เมนู

3. เผณปิณฑสูตร



ว่าด้วยขันธ์ 5 เปรียบด้วยฟองน้ำเป็นต้น



[242] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่ฝั่งแม่น้ำคงคา
เมืองอโยธยา.
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พัดพาเอาฟองน้ำ
ก้อนใหญ่มา บุรุษผู้มีตาดี จะพึงเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย
ซึ่งฟองน้ำจำนวนมากนั้น เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย
ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย
สาระในฟองน้ำนั้น จะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต เป็นอนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ
หรืออยู่ที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูรูปนั้น
โดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย รูปนั้นก็จะปรากฏ
เป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในรูป จะพึงมีได้
อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.
[243] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกอยู่ในสรทสมัย
ต่อมน้ำจะเกิดขึ้นและดับไปในน้ำ บุรุษผู้มีตาดี จะพึงเพ่งพิจารณาดู
ต่อมน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพิจารณาดูโดยแยบคาย ต่อมน้ำนั้น
ก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในต่อมน้ำ
จะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เวทนา
อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่
ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูเวทนานั้น
โดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย เวทนานั้นจะ
ปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า เป็นของหาสาระมิได้เลย สาระใน
เวทนา จะพึงมีได้อย่างไร ภิกษุทั้งหลาย.

[244] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูคิมหันต์
ดำรงอยู่แล้ว ในเวลาเที่ยง พะยับแดดเต้นระยิบระยับ บุรุษผู้มีตาดี พึง
เพ่งพินิจพิจารณาดูพะยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดู
โดยแยบคาย พะยับแดดนั้นจะปรากฏเป็นของว่างทีเดียว ฯลฯ ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย สาระในพะยับแดด จะพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล.
[245] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยแก่นไม้
เสาะหาแก่นไม้ เที่ยวแสวงหาแก่นไม้ ถือเอาผึ่งที่คมเข้าไปป่า เขามอง
เห็นต้นกล้วยใหญ่ ลำต้นตรง ยังใหม่ ยังไม่เกิดหยวกแข็ง ในป่านั้น
เขาพึงตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน ครั้นตัดโคนแล้ว ก็ทอนปลาย ครั้น
ทอนปลายแล้ว ก็ลอกกาบออก เมื่อลอกกาบกล้วยนั้นออก แม้แต่กระพี้
เขาก็จะไม่ได้ในต้นกล้วยนั้น จะได้แก่นมาแต่ไหน ? บุรุษผู้มีตาดี
คงเพ่งพินิจพิจารณาดูต้นกล้วยนั้นโดยแยบคาย เมื่อเพ่งพินิจพิจารณาดู
โดยแยบคาย ต้นกล้วยก็จะปรากฏว่าเป็นของว่าง เป็นของเปล่า
ไม่มีแก่นเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แก่นในต้นกล้วยนั้น จะมีได้อย่างไร
ฉันใด. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน หรือที่มีอยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุ เพ่งพินิจพิจารณาดู สังขารนั้นโดยแยบคาย
เมื่อเธอเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย สังขารนั้นจะปรากฏเป็น
ของว่าง เป็นของเปล่า หาสาระมิได้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาระใน
สังขารทั้งหลาย จะพึงมีได้อย่างไร ?
[246] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกล หรือลูกมือของนักเล่นกล
แสดงมายากลที่สี่แยก บุรุษมีตาดี พึงเพ่งพินิจพิจารณาดูมายากลนั้น

โดยแยบคาย เมื่อเขาเพ่งพินิจพิจารณาดูโดยแยบคาย มายากล ก็จะ
ปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ไม่จริงเลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ความจริง (สาระ) ในมายากล จักมีได้อย่างไร ฉันใด. ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต
ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ฯลฯ หรืออยู่ในที่ไกลที่ใกล้ ก็ฉันนั้น เหมือนกันแล
ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณาดูวิญญาณนั้นโดยแยบคาย เมื่อเธอเพ่งพินิจ
พิจารณาดูโดยแยบคาย วิญญาณก็จะปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า
หาสาระมิได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
จะเบื่อหน่ายในรูปบ้าง ในเวทนาบ้าง ในสัญญาบ้าง ในสังขารทั้งหลาย
บ้าง ในวิญญาณบ้าง เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด
จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า เราหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า
ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสเวยยากรณพจน์
แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
[247 ] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์
ทรงแสดงรูป อุปมาด้วยฟองน้ำ เวทนา อุปมา
ด้วยต่อมน้ำ สัญญาอุปมาด้วยพะยับแดด สังขาร
อุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วย
มายากล. ภิกษุเพ่งพินิจพิจารณา (เบญจขันธ์) อยู่
โดยแยบคาย ด้วยประการใด ๆ เบญจขันธ์ย่อม
ปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ด้วยประการ
นั้น ๆ แก่เธอผู้เห็นอยู่โดยแยบคาย ก็การละ
ธรรม 3 อย่าง ที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ทรงมี

ปัญญาเสมอแผ่นดิน ทรงปรารภกายนี้แล้ว
แสดงไว้ เธอทั้งหลาย จงดูรูปที่เขาทิ้งแล้วเถิด.
อายุ ไออุ่น และวิญญาณ ละกายนี้ไปเมื่อใด เมื่อ
นั้นกายนี้จะถูกเขาทอดทิ้ง นอนอยู่ ไม่มีจิตใจ
เป็นเหยื่อของสัตว์. การสืบเนื่องกันนี้เป็นเช่นนี้
นี้เป็นมายากล ที่คนโง่พร่ำเพ้อถึง ขันธ์ เรา
ตถาคตกล่าวว่า เป็นเพชฌฆาต ตนหนึ่ง สาระใน
เบญจขันธ์นี้ไม่มี ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
มีสติ สัมปชัญญะ พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลาย
อย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อ
ปรารถนา อจุติบท (นิพพาน) พึงละสังโยชน์
ทั้งปวง ทำที่พึ่งแก่ตน ประพฤติดุจบุคคลผู้มี
ไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น ดังนี้.

จบ เผณปิณฑสูตรที่ 3

อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ 3



พึงทราบวินิจฉัย ในเผณปิฌฑสูตรที่ 3 ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า คงฺคาย นทิยา ตีเร1 ความว่า พวกชาวเมืองอโยธยา
เห็นพระตถาคตมีภิกษุจำนวนมากเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวจาริกมาถึง

1. ปาฐะว่า คงฺคาย นทิยา ตีเร ฉบับพม่าเป็น คงฺคาย นทิยา ตีเรติ แปลตามฉบับพม่า.